3 พ.ค. 2549


ก า ร เ ขี ย น ภ า พ สีน้ำมัน
โดย ; นายดินหิน รักพงษ์อโศก

……………………………………………………………………………………………………
สีน้ำมัน (Oil color)
เป็นสีที่นิยมใช้ในงาน ศิลปะ มากว่า 500 ปี สืบเนื่องจากการที่มนุษย์ต้องการให้ภาพวาดของตนมีความคงทนถาวรมากกว่าการใช้น้ำผสมสี จึงมีการคิดนำเอาเนื้อสี จากธรรมชาติมาผสมกับน้ำมัน ศิลปินในอดีตนิยมใช้สีน้ำมันเนื่องจากมีความคงทน เก็บรักษาได้นานนับร้อยปี และเมื่อมีบริษัทผู้ผลิตคิดนำสีน้ำมันมาบรรจุหลอดขาย ก็ยิ่งทำให้การใช้งานสะดวกสบายขึ้น สีน้ำมันจึงเป็นที่นิยมของเหล่าศิลปินมาจนทุกวันนี้

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเขียนภาพสีน้ำมัน

1.สีน้ำมัน (Oil color) ได้จากการนำผงสี มาผสมกับขี้ผึ้ง (beeswax) และน้ำมันที่สกัดจากพืช อาทิ safflower oil, popyseed oil, soybean oil เป็นต้น ปัจจุบันเราสามารถซื้อ สีน้ำมัน ที่บรรจุหลอดมาใช้ได้เลย ตัว สีน้ำมัน เองคือวัสดุหลักในการให้รูปทรง แสงเงา สีสันในการแสดงออกบนแผ่นระนาบรองรับ

2.ตัวทำละลาย สีน้ำมันสามารถละลายได้ในน้ำมันหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ชนิดคือ
2.1 น้ำมันลินสีด (linseed oil) สกัดจากเมล็ดต้นแฟล็คซ์ (flax) ต้นไม้ที่เอาเส้นใย มาทำผ้าลินิน คุณสมบัติของน้ำมันลินสีด จะทำให้สีลื่นระบายได้ง่าย เมื่อแห้งแล้วจะมีลักษณะเป็นฟิล์มบาง ๆ เคลือบผิวภาพ ทำให้ภาพสีน้ำมันมีลักษณะมันเงาและทนทานมากขึ้น และยังเป็นตัวทำละลายที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก แต่ถ้าผ่านระยะเวลายาวนาน ลินสีดจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากเคลือบใส กลายเป็นสีเหลือง และสีน้ำตาลไหม้ในที่สุด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะใช้ระยะเวลานานหลายสิบปี ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันลินสีด
2.2 น้ำมันสน (Terpentine) เป็นตัวทำละลายชนิดแรง ไม่นิยมนำมาใช้ผสมกับสีน้ำมันโดยตรง แต่จะนำมาใช้ล้างพู่กัน หรือผสมร่วมกับน้ำมันลินสีดเพื่อให้มีความหนืดน้อยลง และแห้งเร็วขึ้น 2.3 ลิควิน (Liquin Medium) เป็นตัวทำละลายที่ใช้สำหรับผสมกับสีน้ำมันเพื่อให้สีไม่เหนียวหนืด ทำให้ระบายง่าย เหมาะที่จะใช้ในการสร้างรายละเอียดของภาพ การเกลี่ยสี และสามารถผสมให้สีน้ำมันมีลักษณะบางใสขึ้นเพื่อใช้ในการวาดแบบโปรงใสได้ด้วย คุณสมบัติเด่นอีกข้อหนึ่งของลิควินก็คือ ช่วยให้สีแห้งเร็ว 3. พู่กัน (Brush) พู่กันสำหรับระบายสีน้ำมันจะมีลักษณะขนที่แข็งกว่าพู่กันสีน้ำ เนื่องจากสีน้ำมัน มีคุณสมบัติหนืดเหนียว จำเป็นจะต้องใช้แรงสปริงของขนพู่กันในการระบาย อีกทั้งน้ำมันสนและน้ำมันลินสีดจะกัดขนพู่กันให้เสียหายได้ง่าย จึงควรเลือกใช้พู่กันให้ถูกต้อง

3.พู่กันสีน้ำมัน โดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ
3.1 พู่กันขนแบน ใช้สำหรับระบายพื้นที่กว้าง ๆ แบน ๆ สีที่ระบายลงไปจะมีลักษณะแบนเรียบ
3.2 พู่กันขนกลม ใช้ระบายรายละเอียดต่าง ๆ และในบริเวณพื้นที่แคบ ๆ สีที่ระบายลงไปจะมีลักษณะผิวไม่เรียบมากนัก พู่กันกลมมักจะถูกนำมาใช้มากในการเกลี่ยสีให้กลมกลืนกัน
3.3 พู่กันขนพิเศษ เช่น พู่กันรูปพัด พู่กันปลายแตก ฯลฯ ใช้ระบายให้เกิดลักษณะผิวที่แตกต่างจากปกติ
4. แผ่นระนาบรองรับ (Canvas) แผ่นระนาบรองรับหมายถึงพื้นที่ ๆ เรานำสีหรือวัสดุวาดลงไปให้เกิดร่องรอยเป็นผลงานศิลปะขึ้น ในการทำงานศิลปะนั้น อันที่จริงเราไม่สามารถจำกัดแผ่นระนาบรองรับได้ เพราะศิลปินมีอิสระในการนำเสนอผลงานของตนผ่านกระบวนการทางศิลปะบนระนาบรองรับใด ๆ ก็ได้ แต่แผ่นระนาบรองรับที่ทำจากผ้าใบขึงตึงที่เราเรียกกันว่า แคนวาส (Canvas) กลับเป็นที่นิยมมากที่สุด ในอดีตเมื่อศิลปินออกไปวาดภาพยังสถานที่ต่าง ๆ จะนำผ้าใบม้วนรวมกันไป แล้วมีโครงไม้สี่เหลี่ยมที่เรียกกันว่าสะดึง ติดไปเพียงอันเดียว เมื่อไปถึงสถานที่ ๆ กำหนดแล้ว ศิลปิน จะนำผ้าใบมาขึงเข้ากับโครงไม้แล้ววาดภาพ เมื่อวาดเสร็จและผลงานแห้งดีแล้ว ศิลปินก็สามารถเลาะภาพวาดม้วนเก็บอย่างเดิมได้
5. จานผสมสี (Plate) ควรมีขนาดพอเหมาะกับขนาดผลงานที่วาด เช่นหากวาดภาพใหญ่ พื้นที่ของจานผสมสีก็ควรจะใหญ่ เพื่อให้มีที่สำหรับผสมสีอย่างเพียงพอ
6. ขาหยั่ง ขาหยั่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การวาดภาพสะดวกสบายขึ้น หากไม่ใช้ขาหยั่ง ผู้วาดภาพอาจใช้วัสดุอื่นรองรับแคนวาสแทนก็ได้
7. อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ผ้าเช็ดสี กระดาษทิชชู ผงซักฟอกหรือแชมพู (สำหรับล้างพู่กันเมื่อเลิกใช้งาน)

ขั้นตอนการวาดภาพสีน้ำมัน
1. ร่างภาพลงบนแคนวาสด้วยดินสอดำ ดินสอสี หรือแท่งถ่านเกรยอง (ถ้าร่างภาพด้วยแท่งถ่านเกรยอง ควรจะพ่นเคลือบเส้นร่างด้วย FIXATIVE หรือ CLEAR SPRAY ก่อนลงสีรูป
2. ตกแต่งภาพร่างให้เหมาะสม
3. ผสม สีน้ำมัน ด้วยลินสีด หรือ น้ำมันสน หรือลิควิน ให้มีความหนืดพอเหมาะ
4. ระบายสี ส่วนรวมเป็นบรรยากาศของภาพทั้งหมดด้วยพู่กันขนาดใหญ่
5. เพิ่มรายละเอียดของสีและแสงเงาในภาพให้ใกล้เคียงกับแบบ
6. ตกแต่ง รายละเอียดของภาพโดยใช้พู่กันขนาดเล็ก
7. เมื่อสีแห้งสนิทแล้ว เคลือบด้วยวานิช
………………………………………………………………………………………………….

ไม่มีความคิดเห็น: