7 พ.ค. 2549


ความคิดสร้างสรรค์
(Creative Thinking)
เรียบเรียงจากบทความเรื่อง การเขียนสร้างสรรค์ โดย พิศมัย อำไพพันธุ์
.................................................................................
Smiths ได้ใช้ความหมายว่าความคิดสร้างสรรค์หมายถึง ความสามารถที่จะเชื่อมโยง หรือผสมผสานประสบการณ์เก่าเข้ากับประสบการณ์ใหม่ ผลงานนั้นไม่จำเป็นต้องใหม่ต่อโลกแต่ใหม่สำหรับแต่ละบุคคล
คำว่า Creative Thinking เมื่อแปลเป็นไทยมักจะใช้คำไทยว่า ความคิดสร้างสรรค์ แต่มีอยู่ท่านหนึ่งใช้แตกต่างจากท่านอื่น คือ มล.ตุ้ย ชุมสาย ท่านแปลคำนี้ว่า ความคิดสรรสร้าง โดยให้เหตุผลว่า สรรสร้าง หมายถึง การคัดเลือกเอาความคิดต่าง ๆ ในรูปของจินตนาภาพ (image) มาสร้างขึ้นให้มีกระสวน (Pattern) หรือรูปแบบขึ้นใหม่ การคัดเลือกนั้นคือการคิด ดังนั้นการคัดเลือกเอาความคิดบางประการมาสร้างเป็นกระสวนหนึ่งกระสวนใดขึ้นใหม่ จึงเป็นการเลือกสร้าง มล.ตุ้ย ชุมสาร จึงใช้คำว่า “สรรสร้าง” แทนคำ สรรค์สร้าง หรือสร้างสรรค์ ซึ่งใช้กันทั่วไปในการแปลคำว่า Creative
ความคิดสรรสร้าง หรือพฤติกรรมสรรสร้างอาจปรากฏในรูปคัดเลือกความคิด 2-3 อัน ขึ้นมาสร้างเป็นอะไรอย่างหนึ่งก็ได้ และการที่จะได้ความคิดที่ดีที่สุดเราจะต้องเลือกความคิดที่ถูกต้องรวมกันเข้าเป็นหน่วยได้
Guiford ได้ศึกษาและสรุปพฤติกรรมเกี่ยวกับการคิดว่ามีด้วยกัน 2 แบบ ใหญ่ ๆ คือ การคิดแบบเอกนัย (Convergent Thinking) เป็นการคิดทางเดียวเป็นกระบวนการแก้ปัญหาซึ่งแคบ และมีทางเลือกน้อยจนได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเท่าที่คัดได้จากสิ่งแวดล้อมของปัญหานั้น จึงเป็นแบบที่เรียกว่า ความคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) โดยต้องใช้เหตุผลอย่างกว้างขวาง อีกแบบหนึ่งคือ การคิดแบบอเนกนัย (Divergent Thinking) เป็นการคิดหลายทาง ต้องอาศัยจินตนาการ (Imagination) การแว่บคิด (Intuition) และความตั้งใจจริง
การคิดหลายทางหรือการคิดแบบอเนกนัยนี้เอง Guilford กล่าวว่า เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการ คือ
1. ความคล่องในการคิด (Fluency)
2. ความยืดหยุ่น (Flexibility)
3. ความคิดริเริ่ม (Originality)
4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration)

1. ความคล่องในการคิด หมายถึง ปริมาณความคิดที่ไม่ซ้ำกันในเรื่องเดียวกัน แบ่งออกเป็น
1.1 ความคิดคล่องแคล่วในด้านถ้อยคำ (Word Fluency) เป็นความสามารถใช้ถ้อยคำอย่างคล่องแคล่ว
1.2 ความคิดคล่องด้วนการโยงสัมพันธ์ (Associational Fluency) เป็นความสามารถที่จะคิดหาถ้อยคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกันได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในเวลาที่กำหนด
1.3 ความคล่องแคล่วทางด้านการแสดงออก (Expressional Fluency) เป็นความสามารถในการใช้วลีหรือประโยค หรือความสามารถที่จะนำคำมาเรียงกันอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ
จากการวิจัยพบว่าบุคคลที่มีความคล่องแคล่วด้านการแสดงออกสูงจะมีความคิดสร้างสรรค์
2. ความคิดยืดหยุ่น หมายถึง ประเภทหรือแบบของความคิดแบ่งออกเป็น
2.1 ความคิดยืดที่เกิดขึ้นทันที (Spontaneous Flexibility) เป็นความสามารถที่จะพยายามคิดให้หลายอย่างอิสระ เช่น คนที่มีความคิดยืดหยุ่นประเภทนี้ จะนึกประโยชน์ของก้อนหินว่า มีอะไรบ้างหลายอย่างในขณะที่คนคิดที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์จะคิดได้เพียงอย่างเดียวหรือสองอย่างเท่านั้น
2.2 ความคิดยืดหยุ่นทางด้านดัดแปลง (Adaptive Flexibility) คนที่มีความคิดนี้จะคิดได้ไม่ซ้ำกัน เช่น ในข้อ 1 ในเวลา 2 นาทีท่านลองคิดว่า หลอดกาแฟจะทำอะไรได้บ้าง คนที่คิดคล่องจะคิดได้มากในเวลาเท่า ๆ กัน
3. ความคิดริเริ่ม หมายถึง ลักษณะความคิดแปลกใหม่ แตกต่างไปจากความคิดธรรมดา เป็นความคิดที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ เป็นความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น คนที่เรียนศิลปะการพับกระดาษรู้ความคิดเดิมว่าพับรูปหนึ่งเป็นรูปดอกไม้ เมื่อพลิกกลับอีกด้านเติมหน้าตาก็กลายเป็นรูปสุนัขหรือแมว กระดาษที่พับเป็นสุนัขหรือแมวนั้น จัดว่าเกิดขึ้นจากความคิดดัดแปลงให้เป็นความคิดริเริ่มใหม่ ไม่ซ้ำแบบที่เคยมีอยู่แล้ว เป็นต้น
4. ความละเอียดลออในการคิด ความคิดต่าง ๆ 3 ประการที่เป็นองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ หากปราศจากความคิดละเอียดลออก็ไม่อาจทำให้เกิดผลงานหรือผลผลิตสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ ความละเอียดลออในการคิดขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ ประสบการณ์ และความสามารถด้วย ผู้มีอายุมากจะมีความละเอียดลออในการคิดมากกว่าผู้มีอายุน้อย เด็กหญิงจะละเอียดลออกว่าเด็กชายและเด็กที่มีความสามารถสูงทางด้านความละเอียดลออ จะเป็นเด็กที่มีความสามารถทางด้านสังเกตสูงด้วย
ในบรรดาความคิดทั้งหลาย ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เกิดการค้นพบสิ่งแปลก ๆ ใหม่เกิดเทคโนโลยีก้าวหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่ครูจะต้องช่วยปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก อีกทั้งช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่แล้วในตัวเด็กให้เจริญสูงสุดอีกด้วย เพราะการเก็บกดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กอาจนำไปสู่ปัญหาด้านบุคลิกภาพได้

ธรรมชาติของความคิดสร้างสรรค์
1. ความจริงพื้นฐานข้อแรก คือ ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์โดยกำเนิดแต่มากน้อยต่างกัน แล้วแต่บุคคลและสิ่งแวดล้อม
2. ความคิดสร้างสรรค์สัมพันธ์กับเชาวน์ปัญญา จากการศึกษาของ Getzel และ Jackson พบว่าบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่สิ่งที่จะประกันว่ามีความคิดสร้างสรรค์สูง ทุกคนมีความสามารถทางศิลปะเชิงสร้างสรรค์
จากการศึกษาของ Torrance พบว่า I.Q.Test ไม่สามารถจำแนกบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ ถ้าใช้ I.Q.Test เป็นเกณฑ์สำหรับเลือกเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเสียเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ไปประมาณ 70% ทั้งนี้เพราะไม่สามารถวัดคุณลักษณะของนักสร้างสรรค์ได้
ดังนั้นในการนำหลักพื้นฐานนี้มาสอนภาษา ก็ต้องรู้ว่าภาษาก็เช่นเดียวกันกับความคิดสร้างสรรค์ มีความสัมพันธ์กับระดับเชาวน์ ปัญญา
3. ความคิดสร้างสรรค์เป็นทั้งขบวนการและผลิตผล
4. ความคิดสร้างสรรค์หมายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
5. ความคิดสร้างสรรค์เป็นชุดของคุณลักษณะ ลักษณะนิสัยและค่านิยม
6. ความคิดสร้างสรรค์ เป็นวิธีการของการเรียนรู้ที่แตกต่างจากวิธีธรรมดาที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน

ขั้นตอนของความคิดสร้างสรรค์
ขั้นตอนของการเกิดขึ้นของแนวคิดใหม่ ๆ ในลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์ได้รับการศึกษาวิจัยจากประวัติของบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากพอสมควร พอสรุปได้ว่า มักมีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นรวบรวมข้อมูล (Saturation) คือ สถานการณ์ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ข้อมูล เรื่องราว ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ หรือเรื่องคล้ายคลึงกันจนเต็มอิ่มแล้วรอการดลใจที่จะให้เกิดความคิดออกมา
2. ขั้นพิจารณาไตร่ตรอง (Deliberation) หมายถึง การพินิจพิจารณาตรึกตรองปัญหาอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง แล้วนำมาวิเคราะห์วิจัย เปรียบเทียบดูแล้วลองจัดระบบใหม่ หรือคิดจากแง่มุมต่าง ๆ กัน
3. ขั้นบ่มหรือฟักตัว (Incubation) ถ้าได้พยายามอย่างมากตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ความคิดยังไม่เกิด ก็หยุดพัก อย่าฝืนความคิด หรือบังคับสมองแต่ตรงข้าม ควรลืมปัญหาเสียชั่วขณะ ไปพักผ่อนหย่อนใจให้สมองสดชื่น อาจจะเกิดความคิดใหม่ ๆ
4. ขั้นความคิดกระจ่างชัด (Illumination) ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า คนเรามีจิตใต้สำนึก (Subconcious) ที่จะช่วยให้เราเกิดความคิดแว่บขึ้นมาในสมอง ผ่านจิตใต้สำนึกทำให้เกิดความสว่างไสวในจิตใจและเกิดแว่บขึ้นมาได้
5. ขั้นทำความคิดให้เป็นจริง (Accomodation) เมื่อเกิดความคิดขึ้นแล้ว ไม่รีบทำให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาโดยเร็ว โดยทำให้ความคิดให้กระจ่างแจ้ง และพิจารณาดูว่าเหมาะสมเข้ากันได้กับปัญหาดังที่คิดไว้แต่แรกหรือไม่ แล้วก็สร้างให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา พร้อมทั้งวางแผนด้านปฏิบัติ เพราะความคิดที่เกิดขึ้นแล้วหากไม่สร้างไม่ทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เหมือนกับไม่เกิดอะไรขึ้นเลย
ท่านผู้รู้เชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์ซ่อนอยู่ในขั้นตอนทั้ง 5 ที่กล่าวแล้วและผู้ใดก็ตามที่มีความฉลาดตามสมควรก็อาจมีความคิดริเริ่มได้ ถ้าได้ฝึกฝนให้เกิดขึ้นเสมอ
นอกจาก 5 ขั้นตอนนี้แล้ว หากจะเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นก็ต้องพยายามขจัดเครื่องกีดขวางบางประการ เช่น ขนบประเพณี และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความนึกคิดของคนเรา เรามักจะทำอะไรตามความเคยชิน ไม่กล้าที่จะคิดอะไรแปลกใหม่

ลักษณะพฤติกรรมความคิดสร้างสรรค์
อารี รังสินันท์ กล่าวถึง ลักษณะพฤติกรรมของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ดังนี้
1. อยากรู้อยากเห็น มีความกระหายใคร่รู้เป็นนิจ
2. ชอบแสวงหา สำรวจ ศึกษา ค้นคว้า และทดลอง
3. ชอบซักถาม และถามคำถามแปลก ๆ
4. ช่างสงสัย เป็นเด็กที่มีความรู้สึกแปลก ประหลาดใจในสิ่งที่พบเห็นเสมอ
5. ช่างสังเกต มองเห็นลักษณะที่แปลก ผิดปกติ หรือช่องว่างที่ขาดหายไปได้ง่ายและรวดเร็ว
6. ชอบแสดงออกมากว่าจะเก็บกด ถ้าสงสัยสิ่งใดก็จะถามหรือพยายามหาคำตอบโดยไม่รั้งรอ
7. มีอารมณ์ขัน มองสิ่งต่าง ๆ ในแง่มุมที่แปลกและสร้างอารมณ์ขันอยู่เสมอ
8. มีสมาธิดีในสิ่งที่ตนสนใจ
9. สนุกกับการใช้ความคิด
10. สนใจสิ่งต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง
11. มีความเป็นตัวของตัวเอง
ลักษณะพฤติกรรมดังกล่าวมีในเด็กไทยแต่เดิม มักจะถูกจำกัดว่าเป็น “เด็กซน” และก็มักจะมีคำคล่าวต่อว่า เด็กซนเป็นเด็กฉลาดหรือเด็กซนเป็นเด็กดื้อ ถ้าถูกมองในลักษณะว่าเด็กซนเป็นเด็กฉลาด และได้รับการส่งเสริมอย่างถูกหลักวิชาการ ก็อาจช่วยเสริมสติปัญญาเลิศให้แก่เด็กได้ แต่ถ้าถูกมองว่าเด็กซนเป็นเด็กดื้อ และปฏิบัติต่อเด็กอย่างไม่ถูกวิธี อาจทำลายลักษณะพฤติกรรมสร้างสรรค์ให้ลดน้อยถอยลงไปได้เช่นกัน
เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ มักชอบแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ในด้านต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจ อาจจะแสดงออกทางด้านศิลปะ ดนตรี ภาษา หรืออื่น ๆ เราอาจจะดูความสามารถในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ได้จากสื่อมวลชนที่ส่งเสริมการแสดงออก เช่น โทรทัศน์รายการสำหรับเด็กและเยาวชน ในรายการสโมสรผึ้งน้อย เด็ก ๆ ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งความสามารถทางภาษา ดนตรีและ ศิลปะการแสดง ในสื่อมวลชนอื่น เช่น นิตยสาร วารสารที่เปิดคอลัมน์สำหรับเด็ก เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: