3 พ.ค. 2549


เทคนิคการเขียนภาพสีชอล์กฝุ่น
โดย นายดินหิน รักพงษ์อโศก

ประวัติโดยย่อ

สีชอล์กฝุ่นมีประวัติยาวนานมากว่า 500 ปีแล้ว แต่เดิมจะเป็นผงชอล์กต่อมาอีก 300 กว่าปีให้หลังมานี้จึงมีการผสมกาวที่ทำจากยางไม้ให้จับเป็นแท่ง ในยุคแรกๆ จะนิยมเขียนเพียง 3 สีคือ สีดำ สีแดง และ สีขาว ต่อมาในยุคอิมเพรสชันนิสม์ หรือ 100 กว่าปีมานี้ มีศิลปินที่ใช้ชอล์กฝุ่นหลายคน เช่น โมเนท์ , ปิสซาโร, มาเนท์, แมรี่ คาสเซ็ท และมีศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เอ็ดการ์ เดอกาส์ ซึ่งสร้างผลงานสีชอล์กฝุ่นไว้เป็นจำนวนมาก มีการใช้สีอย่างเชี่ยวชาญ มีความช่ำชองในการปาดสี และฉลาดในการเลือกมุมมองในการจัดภาพให้มีแสงในภาพที่ประสานกันอย่างงดงามในแบบของอิมเพรสชันนิสม์อย่างแท้จริง และศิลปินในกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ หลายคนเป็นผู้ให้อิทธิพลกับศิลปินไทยในรุ่นแรกๆ ที่เป็นลูกศิษย์ท่านศาตราจารย์ศิลป พีระศรีเป็นอย่างมาก
แนะนำการใช้สีชอล์กฝุ่นเบื้องต้น

สีชอล์กฝุ่น
นักวาดภาพมือใหม่หลายคนเลือกที่จะใช้สีชอล์กฝุ่นในการทำงาน เพราะสามารถถ่ายทอดได้อย่างตรงไปตรงมาอย่างมีพลังง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มต้นเขียนภาพ เพียงแต่รู้เทคนิคในการเขียนก็จะทำให้คุณประหลาดใจว่ามันง่ายมากที่จะเขียนภาพทุกชนิดให้น่าสนใจได้
สีชอล์กฝุ่นเหมาะสำหรับการเขียนภาพทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ หรือแม้แต่ภาพคนเหมือน ข้อดีอีกอย่างคือ เราไม่ต้องใช้จานสี น้ำ หรือเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้ยุ่งยาก เพียงมีกระดานรองเขียน กระดาษ สีและนิ้ว เท่านั้น
การทับซ้อนของสี
สีชอล์กฝุ่นเป็นสีที่แห้ง และเป็นสีทึบแสงไม่ได้ผสมกันแบบสีน้ำหรือสีน้ำมัน แต่เราสามารถผสมสีชอล์กฝุ่นได้โดยการระบายทับซ้อนกันบนกระดาษได้หลายชั้นโดยไม่ต้องรอให้สีแห้ง นี่คือลักษณะเฉพาะของสีชอล์กฝุ่น ข้อดีอีกอย่างคือคุณจะทำงานได้เร็วมาก เพราะคุณสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ได้ฉับพลันอย่างเป็นธรรมชาติของตัวคุณเอง และมันสะดวกมากที่คุณจะนำมันติดตัวไปได้ทุกที่
ชนิดของสีชอล์กฝุ่น
สีชอล์กฝุ่นมี 2 แบบ คือแบบแข็ง และแบบนุ่ม แบบแข็งมักจะราคาถูกกว่า และส่วนใหญ่จะเป็นแท่ง 4 เหลี่ยม ส่วนแบบนุ่มมักจะออกแบบมาเป็นแท่งกลม ในการเขียนจะใช้ทั้งสองแบบร่วมกัน โดยแบบแข็งใช้ในการร่างภาพ และขึ้นสีพื้นรูป ซึ่งจะใช้สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม แล้วพ่นด้วย FIXATIVE ทับก่อนลงสีของตัววัตถุ ด้วยสีชอล์กแบบนุ่ม
สีชอล์กที่จะแนะนำคือยี่ห้อเรมบรานด์ ของบริษัททาเลนท์ เป็นผู้ผลิต โดยสีที่บรรจุในกล่องขนาด 30 สี แบบครึ่งแท่งจะราคาประมาณ 370 กว่าบาท ก็จะมีสีมากพอให้เราเลือกใช้เขียนภาพให้สวยงามแล้ว และเป็นสีชอล์กฝุ่นแบบนุ่มซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด
กระดาษ
ผิวหน้ากระดาษที่ทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการเขียนสีชอล์กฝุ่นโดยเฉพาะมีความสำคัญมาก เพื่อให้ผงสีจับลงในร่องกระดาษ ในต่างประเทศมีกระดาษให้เลือกใช้หลายแบบ กระดาษที่มีคุณภาพสูงจะผลิตจากคัตตอล 100 % ซึ่งสามารถเก็บภาพได้นานเป็น 100 ปี โดยกระดาษจะไม่เปลี่ยนสีเลย แต่จะมีราคาแพงเกินไป ในเมืองไทยที่เห็นมี 2 ยี่ห้อที่สั่งมาขายคือ แคนสัน กับฟาเปียโน และจำเป็นจะต้องใช้กระดาษสีพื้นกลางๆ ในการเขียน ด้วยเทคนิคการเขียนสีชอล์กฝุ่นเราจะขึ้นรูปด้วยสีเข้มแล้วคัดสีอ่อนขึ้นมา ถ้าพื้นกระดาษสีขาวจะทำให้ยากต่อการเขียนด้วยเทคนิคการทับสีเป็นชั้นๆ
กระดาษฟาเปียโนจะเหมาะกับการเขียนแบบทับซ้อนสีที่สุด โดยให้เห็นร่องรอยกระดาษหรือสีชั้นล่างบางส่วนและกระดาษก็มีความหนาพอที่จะไม่ย่นเวลาพ่น Fixative ทับบนเส้นร่างและสีที่รองพื้นชั้นแรก สีกระดาษที่เราเลือกก็จะมีส่วนสำคัญในการคุมโทนสีที่จะเราจะเลือกใช้ในการเขียนภาพด้วย

การจัดมุมมองภาพ
การจัดมุมมองของภาพหรือการจัดองค์ประกอบของภาพให้เหมาะสมในกระดาษ ขึ้นอยู่กับหัวข้องานที่เราจะเขียนเช่น ถ้าเป็นหุ่นนิ่งแจกันดอกไม้ ก็อาจจะจัดไว้กลางหน้ากระดาษได้เลย แต่ถ้าเป็นภาพทิวทัศน์ทะเลจะเป็นอีกแบบ คือ เราจะต้องจัดให้ภาพมีระยะหน้า ระยะกลาง และระยะหลัง โดยอาจจะต้องใส่ภูเขา ใส่เมฆ มีต้นไม้ กิ่งไม้ หรือ โขดหิน เพื่อไม่ให้ภาพทิวทัศน์ทะเล มีเพียง เรือกับทะเลเท่านั้น เราอาจมองรอบๆ ตัวเราแล้วนำสิ่งของนั้นมาจัดใส่ในภาพเพื่อให้มีองค์ประกอบของภาพที่น่าสนใจขึ้นมาได้ หรือจะใช้กล้องดิจิตอลในการถ่ายภาพจากในธรรมชาติ โดยเลือกมุมมองสวยๆ แล้วนำมาเป็นต้นแบบในการเขียนโดยดูจากจอ Computer ก็ได้ โดยเฉพาะการวาดภาพสัตว์ที่จะเคลื่อนไหวตลอด ยากต่อการวาดภาพสดๆ จากตัวจริง ปัจจุบันกล้องดิจิตอลจึงมีความจำเป็นที่จะช่วยให้เราทำงานได้สะดวกขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายมาก

การร่างภาพ
เส้นร่างภาพภายนอกรูปจะมีส่วนสำคัญในการเขียนภาพด้วยสีชอล์กฝุ่นเป็นอย่างยิ่ง การร่างภาพที่ให้เส้นนอกรูปเข้มและชัดเจนจะมีผลต่อการลงสีในขั้นต่อๆ ไปมาก ยิ่งถ้าเขียนเส้นร่างภาพได้สวยงาม ก็จะช่วยทำให้งานลงสีง่ายขึ้นมาก บางครั้งเพียงลงสีนิดหน่อยแล้วทิ้งเส้นให้ทำงานอย่างอิสระก็อาจจะดูดีเพียงพอแล้วโดยไม่ต้องลงสีให้เต็มพื้นที่
การขึ้นรูปหรือการร่างภาพด้วยสีเข้มแล้วทับซ้อนด้วยสีอ่อนเป็นการทับซ้อนด้วยชั้นต่างๆ ของสี 2 – 5 ชั้น เป็นวิธีการเขียนแบบคลาสสิคที่นิยมเขียนกันในยุคอิมเพรสชันนิสม์เป็นอย่างยิ่ง เป็นวิธีที่ทำให้ได้สีที่เกิดการผสานกลมกลืนกันทางการมองเห็น และการลงสีด้วยน้ำหนักมือที่หนัก – เบาต่างกันแต่ละที่ก็จะให้ความรู้สึกของความลึกของชั้นสี และความใสของเนื้อสีแต่ละจุดที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดความงามทางทัศนศิลป์

การวาดภาพด้วยสีชอล์กฝุ่น

แอปเปิ้ล
อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวไว้ว่า “วาดเส้น คือ หัวใจของงานศิลปะ” วาดเส้นเป็นเรื่องความงามของเส้นและน้ำหนัก เส้นที่มีชีวิตจะมีน้ำหนักอ่อนแก่ไม่แข็งทื่อ เมื่อเราร่างภาพได้เส้นและรูปทรงตามที่ต้องการแล้ว จะรองพื้นด้วยสีแก่ของลูกแอปเปิ้ลแดงก็คือสีน้ำตาลเข้ม แล้วจึงลงสีแดงของแอปเปิ้ล โดยการปาดสีด้วยน้ำหนักมือที่แตกต่างกัน ตรงส่วนที่เราต้องการสีแดงสดก็จะกดน้ำหนักมือหนักหน่อย ตรงส่วนไหนที่เราต้องการให้เป็นสีแดงเข้ม เช่นส่วนที่อยู่ในร่มเงาก็จะปาดสีเบามือ ให้ร่องรอยบนกระดาษสีรองพื้นทำงานด้วย

มะเขือเทศ
หุ่นนิ่งควรจะเขียนจากแบบจริงจะมีแรงบันดาลใจในการแสดงออกของผู้วาดได้ดีกว่าการเขียนจากภาพถ่าย การเลือกมุมมองที่จะเขียนก็สำคัญควรเลือกมุมที่เห็นเงาตกทอดของหุ่น และมีแสงเข้าด้านเดียวจะได้ภาพที่ดีมีน้ำหนักที่สวยงาม นักวาดภาพที่เชี่ยวชาญเวลาวาดภาพอะไรจะเขียนให้ได้ความรู้สึกของสิ่งที่จะเขียนนั้น เช่น เวลาเขียนมะเขือเทศก็จะต้องเขียนให้ได้ความรู้สึกแดงสดน่าทาน

ภาพคนเหมือน
ในการเขียนภาพทุกชนิดการเขียนภาพคนเหมือนจะยากที่สุด เนื่องจากต้องเขียนให้เหมือนแบบแล้วยังต้องถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของผู้เป็นแบบออกมาให้ได้ด้วย ถ้าเขียนจากคนจริง แบบจะต้องนิ่งที่สุดเหมือนเป็นหุ่นนิ่ง เพื่อผู้วาดจะกะระยะสัดส่วนได้ง่าย จะทำให้เขียนได้เหมือน นักวาดภาพแต่ละคนก็มักจะมีความถนัดในมุมต่างกัน บางคนถนัดเขียนเฉพาะด้านข้างจะเขียนได้ดี และมุมด้านข้างจะแสดงบุคลิกของผู้เป็นแบบได้มากที่สุด และเขียนได้ไว้ที่สุดกว่ามุมอื่นๆ แต่มุมที่สวยงามที่สุดคือมุมด้านเฉียง 45 องศา
การขึ้นรูปในการเขียนภาพคนเหมือนก็เหมือนกับการเขียนภาพหุ่นนิ่ง และการเขียนภาพสัตว์ โดยร่างภาพสีน้ำตาล แล้วเน้นเส้นร่างด้วยเกรยองแท่งเหลี่ยมดำ เพื่อให้เห็นรูปทรงที่แน่นอนซึ่งจะทำให้การลงสีได้ง่าย ภาพต้นแบบจากภาพถ่ายที่มีแสงเงาชัดเจนจะทำให้ลงสีได้ง่ายกว่าภาพถ่ายแบนๆ เพราะเพียงแต่ลงสีพื้นรวมๆ แล้วคัดแสงขึ้นมาก็สวยแล้ว ภาพคนเหมือนที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของศิลปินได้ดีที่สุดคือการเขียนจากคนจริง แต่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะสูงมาก และต้องเขียนไวด้วยเพราะไม่งั้นนางแบบจะเบื่อเพราะเมื่อย โดยปกติการเขียนจากแบบคนจริงจะไม่นิยมเขียนมุมด้านหน้าตรง เพราะจะดูคล้ายเขียนจากภาพถ่ายติดบัตรอย่างเป็นทางการ หรือภาพถ่ายติดหน้างานศพ และนางแบบก็จะไม่มีจุดมองที่ผ่อนคลายด้วย การเขียนภาพคนเหมือนจากภาพถ่ายจะทำได้ง่ายโดยใช้เครื่องฉายทึบแสงช่วยในการร่างภาพโดยไม่ต้องตีสเกลให้เสียเวลา จะถ่ายภาพนางแบบด้วยกล้อง Digital ในมุมที่ต้องการวาดหลายๆ รูปเมื่อเลือกรูปที่เราต้องการแล้วจึง Print ออกมา แล้วใส่ภาพในเครื่องฉายทึบแสง โดยใช้กระดาษที่จะเขียนมารองรับภาพ แล้วลงเส้นด้วยเกรยองแท่งเหลี่ยมดำได้เลย สะดวกสบายมาก

แจกันใส
ส่วนสำคัญในการเขียนแจกันใสคือการใช้สีที่ให้ความกลมกลืนกับฉากพื้นหลัง แต่จะลงสีให้มีมีความเข้มกว่าฉากพื้นหลังเล็กน้อย และให้ใช้สีขาวในจุดที่ได้รับแสงจัด ๆ หรือ เรียกว่าจุดไฮไลต์ ซึ่งตามปกติเราจะไม่ใช้สีขาวในการเขียนหุ่นนิ่ง เช่นผัก และผลไม้ แม้แต่ปลาแต่จะใช้สีเนื้ออ่อนๆ หรือสีเหลืองอ่อนๆ เป็นจุดไฮไลต์แทน เพราะวัตถุที่เป็นแก้วใสต้องการแสงที่สว่างจัดๆ เข้าไปกระทบแจกันด้วย และมีสีที่มากจากวัตถุต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ แจกัน เช่น ผ้าปูพื้นตลอดจนสีของผัก และผลไม้ที่วางใกล้ๆ กับแจกัน สะท้อนเข้าไปในแจกัน เพื่อให้สีเกิดการประสานกลมกลืนกันทั้งภาพ

ไก่
สัตว์ในธรรมชาติจะไม่ค่อยอยู่นิ่งๆ ให้เราเขียน แม้จะอยู่นิ่งบ้างก็มักจะอยู่ในระยะไกล ทำให้เราสังเกตเห็นรายละเอียดได้ยาก จึงนิยมเขียนรูปสัตว์จากภาพถ่าย โดยถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลหลายๆ มุม หรือซูมเฉพาะ ส่วนที่ต้องการจะเขียน แล้วนำภาพมาเก็บไว้ใน Computer เป็นต้นแบบในการเขียน

ต้นไม้
เป็นการเขียนภาพนอกสถานที่ ซึ่งต้องโดยเลือกมุมที่ร่มรื่น สงบจากสิ่งรบกวนพอสมควรจึงจะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง การเลือกต้นไม้ที่จะเขียนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาพต้นไม้มีความสวยงานน่าสนใจ เพราะถ้าต้นไม้ไม่มีลำต้น กิ่งก้านที่สวยงามแล้ว ก็จะทำให้แรงบันดาลใจในการเขียนแทบจะไม่มีเลย ต้นไม้แต่ละชนิดแต่ละต้นจะแตกต่างกันออกไป ต้นไม้ประกอบด้วยลำต้น แขนงลำต้น (แยกออกมาจากลำต้น) กิ่งและใบ ปลายลำต้นจะเรียวเล็กกว่าโคนต้นเสมอไม่ว่าแขนงหรือกิ่ง เปลือกไม้แบบต่างๆ ก็จะเป็นตัวเสริมให้ภาพน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ส่วนที่สวยที่สุดของต้นไม้คือลำต้น ยิ่งลำต้นที่มีกิ่งก้านใหญ่ๆ เป็นต้นไม้เก่าแก่โบราญยิ่งสวย สำหรับใบนั้นเป็นแค่ส่วนประกอบเท่านั้น เพราะใบไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดใกล้เคียงกัน เราจึงเขียนเป็นภาพรวมๆ แต่เน้นที่ความสวยงามของลำต้น กิ่งก้านต่างๆ โดยเฉพาะถ้ามีแสงมากระทบลำต้น ก็จะลงสีได้ง่ายและสวยเป็นพิเศษ วีธีเลือกสีกระดาษก็มีส่วนสำคัญ ควรเลือกสีกระดาษออกโทนเขียวแก่ก็จะทำใบไม้ได้ง่าย โดยการปาดสีชอล์กฝุ่นแบบปล่อยให้เกิดร่องรอยบนพื้นกระดาษสีเดิม

วัว
การร่างภาพวัวให้มองภาพเป็นสามเหลี่ยมแบบเรขาคณิตจะทำให้เราจับลักษณะรวมๆ ของใบหน้าวัวได้ง่ายขึ้น โดยปกติเขาวัวทั้ง 2 ข้างจะยาวไม่เท่ากัน มีข้อที่น่าสังเกตอยู่คือ ลักษณะของวัวตัวผู้กับวัดตัวเมียต่างกันคือวัวตัวผู้จะมีคอกว้าง และแข้งแรงกว่าคอของวัวตัวเมียภาพสัตว์นั้น โดยปกติส่วนหัวของสัตว์ทุกชนิดจะสำคัญที่สุด วาดยากที่สุด

ปลาทู
จะเป็นภาพหุ่นนิ่งซึ่งหมายถึงสิ่งที่ไม่มีชีวิตแล้ว การเขียนจากแบบจริงจะสังเกตรายละเอียดได้ง่าย เริ่มโดยการขึ้นโครงสร้างโดยรวมก่อนจึงจะเน้นเส้นรอบรูปด้วยเกรยองแท่งเหลี่ยมดำ เช่นเดียวกับการขึ้นรูปอื่นๆ การขึ้นสีพื้นด้วยสีเข้มแล้วคัดสีอ่อนขึ้นมา จะเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็วและสวยงาม โดยหลีกเลียงการใช้สีขาวจัด แต่ส่วนที่เป็นสีอ่อนที่สุดของภาพจะใช้เป็นสีเหลืองอ่อนๆ และอย่าลืมสีจากพื้นฉากหลังที่สะท้อนเข้าไปในผิวเนื้อของปลาทูด้วย

สุนัข
สุนัขมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็มีรูปร่างลักษณะหน้าตาเป็นของมันเองโดยเฉพาะ ส่วนที่สำคัญคือการเขียนตาและขนของสุนัข ตาของสุนัขจะมีแววตาและรูม่านตาเหมือนตาคนทุกประการ ส่วนที่เป็นขนขาว ควรหลีกเลียงการใช้สีขาวจัด เพราะจะทำให้ภาพดูแห้งๆ ไม่ได้ลักษณะของขนที่นุ่มนวล และเราสามารถใส่สีที่เป็นสีสะท้อนกลับจากฉากพื้นหลังในขนได้ จะทำให้ขนสุนัขดูนุ่มนวลและเกิดสีประสานกลมกลืนกันกับฉากพื้นหลัง

บทสรุป ถ้าเราอยากจะเริ่มต้นเขียนรูป อย่ารอให้มีเวลาแต่จะต้องจัดสรรเวลาขึ้นมา และเวลาเขียนภาพก็อย่าคำนึงถึงกฎเกณฑ์มากนัก เพราะจะทำให้เกร็ง เราจะต้องเขียนภาพด้วยอารมณ์ที่สบายๆ แบบเล่นๆ เพราะการเขียนภาพแต่ละภาพเราย่อมไม่ทราบว่าตอนจบจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก่อนที่จะเริ่มลงมือวาดภาพทุกครั้ง เราจะต้องสร้างจินตนาการขึ้นในใจของเราว่าเราอยากให้ภาพออกมาเป็นอย่างไร เช่นเวลาก่อนที่เราจะเขียนปลาทู เราจะต้องจินตนาการว่าเราจะเขียนให้รู้สึกว่าปลาทูนั้นตายแล้ว เป็นปลาเค็มจะต้องเขียนให้รู้สึกว่าปลาทูในภาพนั้นเค็มจริงๆ มีกลิ่นของปลาเค็มออกมาจากภาพได้เลย เพราะการวาดภาพไม่ใช่เป็นการลอกแบบจากธรรมชาติเพียงรูปแบบที่เห็นเท่านั้น แต่จะต้องมีอารมณ์ความรู้สึกของภาพยิ่งกว่าภาพถ่ายธรรมดา ซึ่งผู้วาดภาพจะสามารถทำเช่นนี้ได้จนต้องผ่านการฝึกฝีมืออย่างหนัก โดยสังเกตจากธรรมชาติ และฝึกมือให้ถ่ายทอดออกมาให้ได้อย่างที่ใจต้องการ จึงจะได้คุณค่าของความเป็น Work of ART หรืองานที่มีผลสะเทือนต่อจิตใจของผู้ดูอย่างไม่มีวันลืม .

ไม่มีความคิดเห็น: