7 พ.ค. 2549


ประวัติความเป็นมาของ
การ์ตูนไทย
เรียบเรียงโดย นายดินหิน รักพงษ์อโศก

ว่ากันว่าคนเขียนการ์ตูนคนแรกของประเทศไทยก็คือ ขรัวอินโข่ง ซึ่งเป็นจิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 - รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่สมัยนั้นภาพยังมีรายละเอียดต่างๆ เหมือนจริงอยู่
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงโปรดการวาดรูปล้อเหล่าเสนามหาอำมาตย์อยู่เสมอๆ มีการตีพิมพ์ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ลงหนังสือดุสิตสมัยด้วย ในยุคนี้ภาพล้อหรือการ์ตูนในเมืองไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น และในช่วงนี้นี่เองที่มีนักวาดการ์ตูนการเมืองคนแรกขึ้นมา คือนายเปล่ง ไตรปิ่น ลักษณะภาพจะเป็นลายเส้น สไตล์ฝรั่ง เนื้อหาเสียดสีล้อเลียนการเมือง สำหรับนายเปล่งนี้ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต"
เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนซบเซาลงเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ จวบจนปี 2475 ซึ่งประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงทำให้มีนักเขียนการ์ตูนดังๆ เกิดขึ้นในยุคนี้หลายคน อย่างเช่น สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้นำวรรณคดีเรื่องสังข์ทองมาวาดเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทยลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ หลังจากนั้นก็ได้สร้างตัวการ์ตูน "ขุนหมื่น" โดยดัดแปลงมาจากป๊อบอายและมิกกี้ เมาส์ ตัวขุนหมื่นนี้มีบทบาทในหลายเรื่อง โดยเป็นตัวตลกแทรกอยู่ในการ์ตูนจักรๆวงศ์ๆ เรื่องต่างๆ และต่อมานักเขียนการ์ตูนคนอื่นๆ ก็เลยสร้างการ์ตูนตัวหลักของตัวเองขึ้นมาบ้าง
ในสมัยนั้นมีนักเขียนนำเรื่องวรรณคดีและเรื่องประวัติศาสตร์ต่างๆ มาวาดเป็นการ์ตูนแนวเดียวกับ สวัสดิ์ จุฑะรพ กันมากมาย อย่างเช่น วิตต์ สุทธิเสถียร , จำนงค์ รอดอริ ส่วนนักเขียนในยุคเดียวกันแต่วาดคนละแนวก็มี อย่างเช่น ฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย
หลังสงครามโลก ประเทศไทยมีนักเขียนการ์ตูนเจ้าของฉายา "ราชาการ์ตูนไทย" นั่นคือ ประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งวาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนการเมือง และในยุคเดียวกันนี้ก็มีนักวาดภาพประกอบผู้โด่งดังซึ่งเรารู้จักกันดีก็คือ เหม เวชกร ที่จริงแล้ว เหม เวชกร วาดการ์ตูนด้วยเหมือนกัน แต่เรามักจะรู้จักท่านจากภาพประกอบมากกว่า
ปี 2495 พิมล กาฬสีห์ ออกหนังสือการ์ตูน "ตุ๊กตา" ซึ่งเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กเล่มแรกของเมืองไทย มีตัวละครหลักสี่คน คือ หนูไก่ หนูนิด หนูหน่อย และหนูแจ๋วจอมฮึ หลังจากนั้นก็มีการ์ตูนสำหรับเด็กออกมาอีกหลายเล่ม อย่างการ์ตูน "หนูจ๋า" ของ จุ๋มจิ๋ม ซึ่งเริ่มวางแผงเล่มแรกเมื่อเดือนมกราคม 2500 ปัจจุบันการ์ตูนหนูจ๋าเป็นการ์ตูนที่มีอายุยาวนานที่สุดที่ยังวางแผงอยู่ คือปีนี้เป็นปีที่ 43 และที่ได้รับความนิยมตามมาอีกเล่มก็คือการ์ตูน "เบบี้" ของ วัฒนา ซึ่งเริ่มวางแผงฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 ตัวการ์ตูนหลักของเบบี้นั้นมีมากถึงสิบกว่าคน บางตัวก็มีการนำไปแสดงหนังโฆษณาก็มี คือคุณโฉลงและคุณเต๋ว นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กที่แฝงสาระมากอีกเล่มหนึ่งก็คือ ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งมี ทาร์ซานกับเจ้าจุ่น เป็นตัวชูโรง ผู้วาดก็คือ รงค์ ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ได้ปิดตัวไปแล้ว
นักเขียนคนอื่นในยุคนี้ที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น พ.บางพลี , ราช เลอสรวง , จุก เบี้ยวสกุล ฯลฯ ซึ่งในยุคนี้ส่วนมากจะนิยมวาดการ์ตูนเรื่องกันมากกว่า บางเรื่องยาวเป็นร้อยๆ หน้า นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนเรื่องทีเดียว แต่หลังจากนั้นก็มีการ์ตูนเล่มละบาทซึ่งส่วนใหญ่จะเล่มเดียวจบออกมา และจะไม่ค่อยพิถีพิถันในการผลิตสักเท่าไหร่ พวกการ์ตูนเรื่องก็เลยค่อยๆ หมดความนิยมไป จนกระทั่งถูกการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาครองตลาดแทน
แต่ขณะเดียวกันก็มีหนังสือการ์ตูนตลกที่รวมผลงานของนักเขียนหลายๆ ไว้ในเล่มได้รับความนิยมอย่างมากควบคู่มากับการ์ตูนเรื่องล้วนๆ อย่างเช่น การ์ตูนขายหัวเราะ (เริ่มวางแผงเมื่อปี 2516) การ์ตูนมหาสนุก (เริ่มวางแผงเมื่อปี 2518) และปัจจุบันนี้การ์ตูนขายหัวเราะก็กลายเป็นหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีนักเขียนประจำร่วม 30 คน ในขณะที่พวกการ์ตูนเล่มละบาท (ปัจจุบันกลายเป็นเล่มละ 5 บาทแล้ว)ซบเซาไป และนักเขียนการ์ตูนเรื่องยุคใหม่ก็จะต่างกับสมัยก่อน คือสมัยนี้จะได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นแทนการรับอิทธิพลจากการ์ตูนฝรั่งอย่างสมัยก่อน
ความหมายของคำว่าการ์ตูน
การ์ตูน เป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า Cartoon ซึ่งสันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากคำว่า คาโตเน Cartone ในภาษาอิตาลี ซึ่งหมายถึงแผ่นกระดาษที่มีภาพวาด ต่อมาความหมายของคำนี้อาจเปลี่ยนไป เป็นภาพล้อเลียนเชิงขบขัน เปรียบเปรยเสียดสี หรือแสดงจินตนาการฝันเฟื่อง แต่หนังสือบางฉบับกล่าวว่า การ์ตูนมาจากคำในภาษาละตินว่า Charta ซึ่งหมายถึงกระดาษ เพราะในสมัยนั้น การ์ตูนหมายถึงการวาดภาพลงบนผ้าใบขนาดใหญ่ วาดบนผ้าม่านหรือการเขียนลวดลายหรือภาพลงบนกระจกและโมเสก
การ์ตูนมีศัพท์ใกล้เคียงที่สามารถอธิบายได้ดังนี้คือ1.การ์ตูน (Cartoon) มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Carton หมายถึงรูปวาดบนกระดาษแข็งเพื่อความขบขัน เช่น ภาพล้อทางการเมือง วาดในกรอบและแสดงเหตุการณ์ที่เข้าใจได้ชัดเจนโดยง่าย และมีคำบรรยายสั้นๆ2.คอมมิก (Comic) เป็นลักษณะการ์ตูนที่มีความต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวมีคำบรรยาย มีบทสนทนาในแต่ละภาพ ลักษณะจะออกมาในเชิงภาพการ์ตูนที่ไม่เน้นความจริงของกายวิภาค3.นิยายภาพ ( Illustrated Tale) เป็นการเขียนเล่าเรื่องด้วยภาพเช่นกัน แต่ลักษณะ ภาพมีความสมจริงและเขียนถูกต้องตามหลักกายวิภาค (Anatomy) การเขียนฉากประกอบ การให้แสงเงา การดำเนินเรื่องต่อเนื่องตั้งแต่กรอบแรกจนกรอบสุดท้าย ไม่ข้ามขั้นตอนอันสามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านให้คล้อยตามเนื่องเรื่องได้เป็นอย่างดี4.ภาพล้อ (Caricature) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า Caricare หมายถึง ภาพวาดที่ใช้ล้อเลียนหรือเสียดสี วาดในลักษณะที่ตัดทอนหรือทำให้รูปลักษณ์บุคลิกผิดส่วนออกไป เช่น เน้นลักษณะเด่นเฉพาะตัวของบางคนให้ดูมากเกินความเป็นจริง รวมทั้งเน้นในจุดอื่นๆ เช่น ชนชั้นทางสังคมหรือสถาบันต่างๆ ภาพล้อใช้เป็นเครื่องปลุกความรู้สึกนึกคิด ก่ออารมณ์ตอบโต้ให้เกิดแก่ผู้ดูตั้งแต่อารมณ์ขันเบาๆ จนกระทั่งถึงความรู้สึกโกรธแค้นรุนแรง เป็นวิถีทางในการสร้างภาพประกอบเรื่องที่ได้ผลดี เป็นเครื่องมือที่ดีในการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นในเรื่องของสังคมศาสนา และการเมืองลักษณะภาพการ์ตูน
ภาพการ์ตูนสามารถแบ่งออกได้ 4 ลักษณะ ดังนี้คือ

1. ภาพเลียนแบบธรรมชาติ (Natural Cartoon) ซึ่งยังแบ่งย่อยออกได้อีก 2 ลักษณะคือ คือ การ์ตูนรูปสัตว์ และการ์ตูนรูปคน ซึ่งการ์ตูนรูปสัตว์นั้นยังแบ่งได้อีกว่าเป็นรูปสัตว์ที่เหมือนสัตว์จริง หรือรูปสัตว์ที่มีกิริยาเหมือนคน
2. ภาพวิจิตร( Fine Cartoon) การ์ตูนที่เขียนอย่างสวยงามในลักษณะวิจิตร ศิลป์จนอาจถือได้ว่าเป็นงานศิลปะที่มีค่า
3. ภาพกราฟฟิก (Graphic Cartoon) เป็นการ์ตูนที่มีลักษณะเหมือนกับงานออกแบบ รูปร่างการ์ตูนมักเป็นรูปง่ายๆทางเรขาคณิต มักระบายสีเรียบๆไล่น้ำหนักเล็กน้อย มีขอบเขตการลงสีเส้นขอบชัดเจนในลักษณะเดียวกับงานกราฟฟิก4.การ์ตูน 3 มิติ (Three Dimension Cartoon) คือการทำให้การ์ตูนเป็นรูป 3 มิติก่อน เช่นสร้างจากดิน ดินน้ำมัน ไม้ พลาสติก ฯลฯ แล้วนำมาถ่ายเป็นภาพยนตร์การ์ตูน 2 มิติอีกครั้ง ซึ่งถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ยังสามารถใช้เทคนิคทำให้หุ่นการ์ตูนนั้นเคลื่อนไหวได้ (Animation) เหมือนมีชีวิตจริง
ประเภทของการ์ตูน
อาจแบ่งประเภทหรือคุณประโยชน์ในการใช้ภาพได้ 7 ประเภท

1.ภาพล้อสังคม (Gag Cartoon) จะเป็นภาพเชิงล้อ โดยนักเขียนภาพล้อโดยเฉพาะ นิยมพิมพ์ในหนังสือและนิตยสาร ที่ออกสม่ำเสมอ
2.ภาพล้อการเมือง (Political and Editional Cartoon) เป็นภาพล้อผู้บริหารประเทศด้านการเมือง และการปกครองโดยมีจุดมุ่งหมายกระตุ้นให้ผู้อ่านเห็นในเชิงตรงกันข้ามหรือขบขันเสียดสี
3.การ์ตูนโฆษณา (Commercial Cartoon) คือการใช้การ์ตูนที่ใช้ในงานโฆษณาชวนเชื่อในสินค้าของตน ลักษณะการ์ตูนอาจเป็นรูป 2 มิติ หรือหุ่น 3 มิติ
4.การ์ตูนประชาสัมพันธ์ (Public Relations Cartoon) ลักษณะเดียวกับการ์ตูนโฆษณา แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์ว่าเป็นการ์ตูนที่ใช้ประดับตกแต่ง เพื่อกระตุ้นการบอกข่าวแจ้งข่าวให้ผู้อื่นทราบโดยมิได้มุ่งหวังผลทางด้านการค้า เช่นการ์ตูนโฆษณาการไปรษณีย์
5.การ์ตูนล้อเลียน (Caricature Cartoon) เป็นการ์ตูนที่เขียนล้อเลียนบุคคลให้ดูตลกขบขัน โดยวาดบุคลิกลักษณะเกินความจริง
6.การ์ตูนเรื่องยาว (Comic Strip Cartoon) เป็นการ์ตูนที่ใช้ดำเนินเรื่องราว หรือประกอบนิทานนิยายต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นตอนๆ ไม่ใช่จบในช่องเดียวเหมือนภาพล้อ
7.ภาพยนตร์การ์ตูน (Animation Cartoon) หมายถึงการทำภาพวาดการ์ตูนให้ออกมาเป็นภาพยนตร์โดยการวาดการ์ตูนลงบนแผ่นใสแล้วถ่ายเป็นภาพยนตร์ให้มีลักษณะการเคลื่อนไหวเหมือนมีชีวิตจริง
…………………………………………………………………………………………………………………………

ไม่มีความคิดเห็น: