3 พ.ค. 2549

FAST SKETCHING TECHNIQUES IN
WATERCOLOUR
by นายดินหิน รักพงษ์อโศก

ข้อแนะนำเบื้องต้น
การวาดภาพอย่างหวัดๆ ด้วยสีน้ำ หรือเป็นภาพร่างแบบไม่ละเอียด เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเขียนภาพสีน้ำที่ไม่ต้องมีพื้นฐานการ Drawing ที่ชำนาญหรือเชี่ยวชาญนัก อาจเริ่มต้นด้วยการถ่ายรูปทิวทัศน์ต่างๆ เช่นต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เรือและทะเล โดยใช้กล้องดิจิตอล แล้วเปิดดูภาพจากจอคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นต้นแบบในการเขียนภาพ การถ่ายภาพทำให้เราสามารถเลือกมุมมองได้มากกว่าการออกไปเขียนจากสถานที่จริงๆ เพราะบางตำแหน่งเราไม่สามารถไปนั่งเขียนได้ เช่น เรือที่อยู่ในทะเลไกลๆ และเราต้องการภาพจากมุมสูงเพราะต้องการเห็นรายละเอียดภายในเรือ เป็นต้น ที่สำคัญในการร่างภาพโดยเขียนจากภาพถ่ายนั้น ผู้เริ่มต้นเขียนภาพสามารถทำได้โดยการ Print ภาพจากคอมพิวเตอร์ แล้วนำมาถ่ายเอกสารขยายให้ใหญ่เท่ากระดาษที่เราต้องการจะวาด แล้วจึง Copy ภาพด้วยโต๊ะเขียนแบบที่มีไฟส่องจากด้านล่าง ด้วยการร่างภาพด้วยดินสอไม้ละลายน้ำสีอ่อนๆ ก่อน แล้วจึงมาใส่เส้นด้วยเทคนิคต่างๆ ในการ Sketch ภาพก่อนที่จะลงสีน้ำต่อไป
ขั้นตอนการร่างภาพดังกล่าวนี้ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเขียนภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเราเห็นภาพที่เราร่าง สวยงาม ได้สัดส่วนแล้ว ก็เหมือนทำภาพให้สวยไปได้ 50% ทีเดียว ทำให้เรามีกำลังใจในการลงสีตามมาอย่างมาก เมื่อเราทำบ่อยๆ จนเกิดทักษะคล่องแคล่ว เชี่ยวชาญแล้ว การออกไปเขียนยังสถานที่จริงจากธรรมชาติ ก็จะง่ายเป็นอย่างมาก

ลักษณะเฉพาะตัวของสีน้ำ
ในบรรดาสีที่ใช้ในการวาดภาพทั้งหมด สีน้ำมีความสะดวกในการใช้มากที่สุด เนื่องจากสามารถประยุกต์ได้ในหลายๆ สถานการณ์และหลายสไตล์ วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้พื้นฐานเบื้องต้นก็มีเพียงจานผสมสีเ พู่กันกลมและแบน 3-4 ด้าม กระดาษ กระป๋องใส่น้ำและผ้าเช็ดสีเท่านั้น เมื่อคุณมองเห็นภาพเขียนที่เขียนด้วยสื่อสีน้ำ คุณจะทราบทันทีว่าเป็นการเขียนด้วยเทคนิคสีน้ำ เพราะมีคราบของสี มีความชุ่มเปียกแม้สีแห้งแล้วก็ยังรู้สึกเหมือนสียังเปียกอยู่ และได้เห็นความรู้สึกของผู้วาดโดยผ่านทางการแต้มสีต่างๆ บนกระดาษ ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของสีน้ำจะมีความโปร่งใสแม้จะระบายด้วยเทคนิคหรือกรรมวิธีต่างๆ ก็ตาม ซึ่งหากใช้สีทึบหรือเนื้อสีมาก จะทำให้สีไม่โปร่งแสง ขาดความชุ่ม ซึมไหล ภาพจะดูแข็งกระด้าง และจะนิยมเขียนบนกระดาษขาวเท่านั้น เพราะความขาวของกระดาษเป็นตัวเสริมความโปร่งใสของสีน้ำให้ดูสะอาดตายิ่งขึ้น

การวาดและการระบายสี
โดยพื้นฐานการระบายสีน้ำจะอาศัยหลัก”ความสะอาด” แม้จะร่างภาพด้วยเทคนิคอะไรก็ตาม ก็ต้องรักษาความสะอาดของสี ให้โปร่งใสและทับซ้อนกันอย่างรู้จังหวะเวลาว่าจะต้องทิ้งให้หมาดๆ หรือแห้งขนาดไหน ขึ้นอยู่กับความชำนาญและทักษะในการวาดและระบายสี ต้องฝึกฝนบ่อยๆ ให้เชี่ยวชาญ จนถึงขั้นสูงสุดจะเป็นการเรียนรู้และเล่นในการระบายสี เพราะการตั้งใจจะวาดให้เหมือนโดยใช้สื่อสีน้ำนั้น ภาพที่ได้ออกมาจะดูแข็งทันที ภาพที่วาดง่ายๆ โดยที่ไม่ตั้งใจอาจจะเป็นภาพที่ดูดีสวยงามได้ โดยอาจใช้เพียงไม่กี่สีก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เริ่มต้นจะต้องทราบว่าการ Sketch ด้วยสื่อสีน้ำนั้น ไม่ใช่จะต้องเขียนหรือระบายสีให้เหมือนแบบที่สุด แต่เป็นการเลียนแบบจากธรรมชาติหรือภาพถ่ายที่เห็น แล้วตัดทอนออกมาเป็นรูปทรงง่ายๆ โดยการสร้างโครงสีขึ้นมาใหม่ แทนค่าสีที่เห็นจากต้นแบบนั้น เมื่อเริ่มต้นตามคำแนะนำนี้จะทำให้ผู้เริ่มต้นเขียนภาพสามารถพัฒนาฝีมือในการวาดภาพระบายสีน้ำได้ดี ในเวลาอันสั้น

การเริ่มต้น
CD-ROM ชุดนี้จะแนะนำถึงเทคนิคที่ใช้ในการ Sketch ภาพที่หลากหลาย ให้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้วาดเอง โดยสามารถปฏิบัติตามได้ง่าย รวมทั้งข้อแนะนำบางประการที่จะช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ท่านจะต้องมีความสนุกที่จะวาดภาพ จงวาดภาพในสิ่งที่ท่านอยากจะวาด อย่าวาดเพราะจำเป็นต้องวาด จึงจะเกิดแรงขับเคลื่อนที่ออกมาจากภายในตัวท่านเอง ผลักดันให้ทำอย่างต่อเนื่อง ลองศึกษาเทคนิคต่างๆ ที่แนะนำ แล้วนำมาทดลองใช้หลายๆ วิธี จึงจะพบวิธีที่ท่านคิดว่าเหมาะกับตัวเอง โดยอาศัยหลักการ “ง่ายและงาม” สิ่งสำคัญคือคุณภาพของสีและกระดาษที่ใช้ ซึ่งมีความสำคัญมาก การใช้สีที่มีราคาแพงมักจะเป็นสีโปร่งใสกว่าสีราคาถูก และกระดาษที่มีคุณภาพดีมักจะมีเนื้อกระดาษที่หยาบ มีความหนา ซึ่งมีส่วนผสมของลินินและฝ้าย ทำด้วยมือทีละแผ่น จึงมีราคาแพงกว่ากระดาษ 100 ปอนด์ธรรมดาหลายเท่ามาก แต่จะมีคุณภาพในการซึมซับสีที่ดีกว่า สีที่เขียนออกมาจะสด สวยกว่า ข้อสังเกตคือมักจะมีริมหรือขอบกระดาษไม่เรียบ ขอแนะนำให้ท่านลองใช้ 2-3 ยี่ห้อ เมื่อพบว่าท่านชอบกระดาษแบบไหนก็ควรใช้กระดาษแบบนั้นๆ ตลอด เพราะเมื่อเปลี่ยนกระดาษใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการทดลองเขียนใหม่จนกว่าจะอยู่มืออีก

ความรู้พื้นฐานการระบายสีน้ำ
การเขียนภาพสีน้ำ พื้นฐานง่ายๆ คือใช้พู่กันจุ่มน้ำ ผสมสี แล้วระบายลงบนกระดาษพื้นขาว ให้ได้สีในน้ำหนักต่างๆ กัน จนเป็นรูปร่าง มีแสง-เงา บรรยากาศ โดยทิ้งกระดาษขาวเป็นน้ำหนักอ่อนที่สุด โดยเริ่มต้นเขียนภาพตามที่ตาเห็นก่อน เมื่อเกิดความเชี่ยวชาญแล้วจึงเพิ่มสิ่งที่ใจเรารู้สึก ออกมาใส่ในงานด้วย มิใช่เพียงแค่ลอกเลียนแบบให้เหมือนดังที่ตาเห็นเท่านั้น
การปฏิบัติงานสีน้ำ บางท่านกล่าวว่า สีน้ำเป็นสีที่เขียนได้ยากที่สุด นั่นเป็นเฉพาะคนที่มีใจโลเล เพราะเมื่อลงสีไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้ ผู้เขียนจึงต้องตัดสินใจแน่นอน ฉับพลัน กล้าได้ กล้าเสีย เล่นสีกับน้ำลงบนกระดาษให้สนุกเพลิดเพลิน และมีความสุข ไม่ตั้งใจมากจนเกินไปจนเกิดการเกร็ง ทำให้งานมีความรู้สึกแข็ง ไม่นุ่มนวล จะไม่ทับสีมากจนกระดาษช้ำ ทำให้เกิดสีสกปรก หรือสีเน่า ดูไม่สะอาดตา การเล่นสีทำให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน เฉกเช่นเดียวกับการเล่นดนตรี อันนำมาซึ่งสำเนียงเสียงไพเราะ มีชีวิตชีวา สีน้ำมีเสน่ห์ตรงที่ดูชุ่มฉ่ำเสมือนหนึ่งยังเปียกอยู่ ทั้งที่แห้งแล้วทั้งรูป ยากนักที่สีอื่นๆ จะทำได้ การเขียนสีน้ำด้วยพู่กันลงบนกระดาษสามารถทำได้ทั้งป้าย ระบาย สลัด จุด ขีด ฯลฯ จึงเป็นการเล่นที่สนุก เพลิดเพลิน มีอิสระ อาจจะเริ่มต้นด้วยโครงสร้างของสีอันเป็นมวลหมู่ทั้งภาพ หรือที่รูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน หรือจะทำไปพร้อมกันก็ได้ เพื่อถ่ายทอดการแสดงออกของอารมณ์ ความรู้สึกอันประทับใจ ออกมาในงานสีน้ำ
การสร้างงานสีน้ำให้มีคุณค่าทางศิลปะนั้น ต้องค้นคว้า ทดลอง หาทั้งประสบการณ์ ฝีมือและความคิดไปพร้อมกัน แม้เราจะไม่ได้จบการศึกษาจากในสถาบันศิลปะ ยิ่งทำให้เรามีอิสระในการสร้างสรรค์มากขึ้น เป็นตัวของตัวเองง่ายมากขึ้น ยิ่งรู้จักวิเคราะห์และเข้าใจถึงคุณค่าในงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ได้พบเห็นทั้งในและต่างประเทศ ก็สามารถนำมาเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานสีน้ำได้
..............................................................................................
10 เทคนิค ในการ Sketch ภาพ ก่อนลงสีน้ำ
1. ดินสอถ่านชาร์โคล
เป็นวัสดุร่างภาพที่เหมาะสำหรับคนชอบแสดงเส้นร่างรอบรูปอย่างเข้มข้น เห็นชัดเจน โดยอาจเขียนในลักษณะแบบการร่างภาพให้เส้นต่อเนื่องกันโดยยกดินสอชาร์โคลให้น้อยที่สุด และจับดินสอแบบนอนขนานกับกระดาษ ก็จะได้เส้นที่มีลักษณะลื่นไหลมีน้ำหนักอ่อนแก่ เส้นใหญ่-เล็กได้อารมณ์ของเส้นดีมาก เมื่อภาพร่างเสร็จจนพอใจก็จะต้องพ่นเคลือบเส้นด้วย Fixative เพื่อให้เส้นซึ่งเป็นถ่าน ไม่หลุดออกมาในตอนลงสี
2. สี NEOCOLOUR
เป็นสีชอล์กน้ำมันที่ละลายน้ำได้ ซื้อได้ที่ร้านศรีสุทธา ใกล้ๆ 4 แยกคอกวัว หลังอนุสาวรีย์วีรชน 14 ตุลา เป็นการร่างภาพแบบ Sketch ด้วยสี ที่ทำให้ภาพสวย ดูดี และง่ายที่สุด เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นเขียนภาพสีน้ำมาก สีจะมีลักษณะเป็นแท่งกลมคล้ายสีเทียนที่เด็กๆ ใช้เขียนรูป แต่จะมีราคาแพงกว่ากันมาก ขนาด 40 สี ก็พันกว่าบาท ถ้าเขียนบนกระดาษผิวหยาบก็จะทำให้ได้พื้นผิวที่น่าสนใจกว่าเขียนบนกระดาษที่ผิวเรียบ การลงเส้น Sketch ควรลงหลายๆ สี ทั้งสีเข้มและสีอ่อน แล้วสามารถลงสีน้ำทับเส้นได้เลย ซึ่งจะได้เส้นรอบรูปภาพที่ไม่แข็ง เพราะเมื่อถูกน้ำก็จะละลายอย่างสวยงาม นุ่มนวล บางครั้งหลังจากลงเส้นด้วยสี NEOCOLOUR แล้ว เราสามารถจะปาดสีลงในภาพ โดยใช้ด้านข้างของแท่งสี NEOCOLOUR โดยไม่ต้องลงสีน้ำ เพียงแต่ใช้ฟ็อกกี้ฉีดน้ำเปล่าเล็กน้อย ในระยะห่างๆ เส้น+สี NEOCOLOUR ก็จะละลายน้ำออกมาอย่างนุ่นวล ดูเป็นงาน Sketch ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว
3. สีไม้ละลายน้ำ
เหมาะสำหรับคนที่รักความสะอาด นุ่มนวล โดยการร่างภาพได้หลายสีและอาจจะระบายสีบางส่วนของภาพก็ได้ เมื่อร่างภาพเสร็จก็เพียงแต่ใส่สีน้ำที่เจือน้ำเยอะๆ ให้สีเจือจาง ก็ดูสวย หวาน เหมาะกับการเขียนภาพดอกไม้หรือวิวที่ต้องการความนุ่มนวล ไม่ใช้สีเข้มข้นรุนแรง สีไม้ละลายน้ำจะหาซื้อได้ง่ายตามห้างสรรพสินค้า ในราคาไม่แพง พกพาง่ายสะดวก แถมยังมีสีเยอะให้เลือกใช้ ทำให้ภาพเขียนมีหลายโทนสีประสานกลมกลืน ไม่น่าเบื่อ
4. แท่งถ่าน Pastel
หรือที่นิยมเรียกเกรยอง จะเป็นสีชอล์กฝุ่นแบบแข็ง ลักษณะแท่งสีดำสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมาะกับผู้ชอบเส้นที่คมเป็นเหลี่ยมเป็นสัน เพราะเราจะใช้สันเหลี่ยมในการร่างภาพ โดยเน้นที่การจับแท่งถ่านแบบนอน การเขียนเกรยองจะใช้วิธีเขียนโดยใช้สันเหลี่ยมเท่านั้นไม่ใช้ปลายของแท่งถ่าน เพราะเส้นจะทู่ๆ ไม่คมสวยเหมือนกับการใช้สันเหลี่ยม ข้อควรระวังคือจะเลอะได้ง่าย เพราะผงถ่านที่ติดมือ เมื่อร่างภาพเสร็จก็จะต้องพ่นทับด้วย Fixative เพื่อให้เส้นติดกับกระดาษ และควรไปล้างมือก่อนลงสีน้ำ ก็จะได้ภาพ Scetch ที่สวยไปอีกแบบ ได้แสดงความคมของเส้นแบบการการเขียนเกรยองภาพขาวดำ แต่นำมาดัดแปลงโดยการใส่สีน้ำเข้าไป ให้เกิดสีสันสนุกสนานงดงามยิ่งขึ้น
5. พู่กันจุ่มสี
เป็นเทคนิคที่ศิลปินรุ่นเก่านิยมเขียนกัน โดยการจุ่มสีน้ำโทนเข้มๆ เช่น น้ำเงิน-ดำ-น้ำตาล โดยการจับพู่กันแบบนอนขนานกับพื้นกระดาษ จะได้ส้นที่สวยงามกว่าแบบตั้ง แต่จะต้องใช้พู่กันกลมเบอร์เล็ก เบอร์ 4-5 และจุ่มสีที่หมาดๆ เกือบแห้ง จึงจะได้เส้นสากๆ ที่สวยเมื่อร่างภาพเสร็จ เวลาลงสีน้ำ เส้นบางส่วนจะละลายน้ำออกมาผสมกับสีที่ชุ่มน้ำบ้าง ก็จะเป็นการดี เพราะจะได้เส้นที่ไม่แข็งกระด้างเลยทีเดียว บางคนอาจชอบร่างภาพด้วยสีอ่อนก็จะไม่เห็นเส้นร่างในเวลาลงสีเสร็จแล้ว การใช้สีเข้มในการร่างภาพในบางครั้งอาจจุ่มสีสัก 2 สีก่อนลงในกระดาษก็ได้ โดยให้สีทั้งสองผสมกันเองในขณะร่างภาพ
6. ปากกาลูกลื่น
ปากกาที่เหมาะคือปากกาหมึกเจล หัวเบอร์ขนาด 0.6 ซึ่งส่วนใหญ่หมึกเจลจะกันน้ำอยู่แล้ว เหมาะสำหรับคนที่ชอบเส้นเล็กและละเอียด ถ้าจะเขียนให้ไว ให้จับปากกาแบบนอนขนานกับพื้นจะเขียนได้คล่อง เส้นลื่นไหลอย่างอิสระ แต่ถ้าชอบความละเอียดก็จับแบบเขียนหนังสือธรรมดา เนื่องจากเส้นเล็กจึงต้องใช้เวลาในการร่างภาพนานกว่าเทคนิคอื่น แต่ก็สะดวกในการพกพา บางครั้งอาจไปร่างภาพกับสถานที่จริงหลายๆ ภาพแล้วนำกลับมาลงสีน้ำที่บ้านก็ได้
7. ปากกาหมึกซึม
เป็นวัสดุที่ศิลปินนิยมใช้กันมากโดยเฉพาะการ Sketch อย่างเร็ว เป็นการบันทึกความทรงจำด้วยภาพ เพื่อนำไปขยายเป็นภาพเขียนสีน้ำมันหรือสีอะคริลิก ในแบบกึ่งนามธรรม โดยเมื่อร่างภาพเสร็จก็จะลงน้ำหนักด้วยหมึกดำละลายน้ำจางๆ ก็จะได้ภาพที่สวยงามแล้ว แต่ในการ Sketch เพื่อลงสีน้ำ ควรใช้ปากกาหมึกซึมที่หัวใหญ่ๆ เช่น Size BB เพื่อจะได้เส้นเล็ก-ใหญ่ตามน้ำหนักมือที่เน้นและปล่อยในขณะร่างภาพ เมื่อ Sketch ด้วยปากกาหมึกซึมเสร็จแล้วรอให้หมึกแห้งซักพักจึงลงสีน้ำโดยหลีกเลี่ยงที่จะระบายสีน้ำทับเส้นปากกา เพราะหมึกดำจะละลายน้ำออกมาผสมกับสีน้ำ อาจให้มีการละลายของเส้นสีน้ำกับได้บ้างในบางจุดพองาม แต่ไม่ใช่ทั้งภาพ และควรลงสีน้ำค่อนข้างอ่อน โดยผสมน้ำให้เจือจางมากๆ เพราะไม่เช่นนั้นหมึกที่ละลายออกมาจากเส้น Sketch จะออกมาผสมกับสีน้ำ ทำให้ดูไม้ค่อยสะอาดตานัก
8. ไม้จุ่มหมึก
เป็นเทคนิคที่สะดวกที่สุดเพราะไปหาเอาตามข้างถนนเช่น ไม้เสียบลูกชิ้นปิ้ง หรือหักกิ่งไม้เล็กๆ ตามต้นไม้ข้างถนน ก็นำมาเขียนได้ แต่ต้องใช้หมึกกันน้ำ เช่น หมึกดำตราอูฐ ฮักกิ้น หรือหมึกเติมปากการ็อตตริ้ง ทำให้ได้ภาพสีสดใส สะอาดตา เทคนิคนี้เหมาะกับการเขียนรูปทรงอิสระเช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นอย่างยิ่งเพราะสามารถร่างเส้นให้มีความลื่นไหลอย่างไม่ต้องกลัวผิดกลัวเบี้ยว เส้นที่ร่างอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความงามอย่างยิ่ง เมื่อรอให้เส้นที่เรา Sketch แห้งดีแล้วจึงลงสีน้ำได้ เป็นการแสดงเส้นร่างที่สวยงามได้ดีที่สุด
9. ปากกาคอแร้ง
สามารถเลือกเบอร์ขนาดปากได้หลากหลายตามความถนัด ถ้าปากเล็กอาจต้องกดๆ เส้นสักหน่อยเวลาสร้างภาพ เพื่อให้เส้นเกิดน้ำหนักอ่อน-แก่ แหรือใช้ปากหัวแบนๆ ใหญ่หน่อย ก็จะได้เส้นงามไปอีกแบบ ลักษณะการเขียนที่จะไม่ให้เส้นแข็งก็อยู่ที่ลักษณะการจับปากกา ถ้าต้องการเส้นสนุกสนานก็ให้จับแบบนอนขนานกับกระดาษ แต่ถ้าต้องการความละเอียดก็จับแบบเขียนหนังสือ ปากกากคอแร้งจะอุ้มหมึกได้นานกว่าการเขียนด้วยขนเป็ดและไม้จุ่มหมึก ซึ่งต้องจุ่มหมึกบ่อยครั้งกว่า แต่เส้นจะออกแข็งกว่า เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้เส้นที่ชำนาญในการเขียนภาพด้วยวัสดุนี้พอสมควร และก่อนเขียนในกระดาษจริงเมื่อจุ่มหมึกแล้วควรเขียนในเศษกระดาษก่อน เพื่อให้หมึกไม่แฉะมากนัก
10. ขนเป็ด
เป็นวัสดุที่สมัยโบราณใช้จุ่มหมึกเขียนหนังสือแทนปากกา จะใช้ขนเป็ดขนใหญ่ๆ หน่อย เช่น เป็ดเทศ ที่ชอบสะบัดขนร่วง หรือขนนกก็ได้ แล้วนำคัตเตอร์มาฝานปลายที่จะใช้เขียนให้เฉียง 45 องศา แล้วจุ่มหมึกกันน้ำเขียนได้เลย เทคนิคนี้จะใกล้เคียงกับไม้จุ่มหมึก แต่จะได้เส้นที่แปลกตากว่า แต่ต้องเช็ดปลายขนที่จะใช้เขียนให้หมาดๆ เล็กน้อยก่อนเขียนลงบนกระดาษ เพื่อไม่ให้หมึกไหลลงไปในภาพมากจนเกินไป เพราะจะควบคุมการไหลของหมึกได้ยากกว่าปากกาคอแร้ง .

ไม่มีความคิดเห็น: