3 พ.ค. 2549
หั ว ใ จ แ ล ะ เ ท ค นิ ค
การทำภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก
โดย ; นายดินหิน รักพงษ์อโศก
ภาพประกอบนิทานที่เด็กชื่นชอบ
ภาพประกอบนิทานสำหรับเด็กที่ดี ควรมีคุณสมบัติต่อไปนี้
1. มีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
2. สนุกสนาน จับใจเด็ก
3. มีความจริงใจในทางศิลปะ
4. ช่วยสนับสนุนให้เนื้อเรื่อง เกิดความชัดเจนสมบูรณ์
นักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กที่ดี
ผู้ที่เป็นนักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กที่ดี ควรเตรียมตัวเองให้พร้อมในเรื่องต่อไปนี้
1. ทำความเข้าใจในเนื้อเรื่องอย่างแจ่มแจ้ง ต้องรู้ว่า "หัวใจ" สำคัญที่สุดที่ผู้เขียนเรื่องต้องการบอกเด็กๆ คืออะไร ถ้าจะเปรียบไป นักวาดภาพประกอบก็คล้ายนักแสดงที่จะต้องตีบทให้แตก การแสดงนั้นจึงจะสมทบบทบาท ต่างกันตรงที่ผู้วาด "แสดง"ผ่านภาพที่สร้างขึ้น
2. รู้ใจเด็ก นักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กที่ดี จำเป็นต้องศึกษาจิตวิทยาเด็กขั้นพื้นฐาน เพราะธรรมชาติความสนใจของเด็กจะแตกต่างกับความสนใจของผู้ใหญ่ที่เราคุ้นเคย เช่น เด็กเล็ก ๆ จะสนใจภาพที่ไม่ซับซ้อนมาก สีสันสดใสในขณะที่เด็กโตชอบดูภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น เวลาดูภาพ เด็กๆ จะเป็นนักเก็บรายละเอียดตัวยง ต่างกับผู้ใหญ่ที่มักจะดูภาพแบบองค์รวม โทนสีที่เบาเกินไปจะทำให้เด็กเบื่อง่าย แต่โทนสีแรงเกินไปก็อาจทำให้เด็กๆ ตื่นกลัวได้ อารมณ์ขันเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่จะทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ ไว้วางใจ และอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ บ่อยๆ
ยิ่งเราเข้าใจเด็กมากเท่าใด ภาพของเราก็จะเป็นที่ถูกใจนักอ่านตัวน้อยๆ มากขึ้นเท่านั้น
3. มีทัศนคติที่ดีต่องานสร้างสรรค์ภาพประกอบสำหรับเด็ก นักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กโดยเฉพาะในสังคมไทย ต้องทบทวนทัศนคติที่มีต่อวิชาชีพนี้ว่า ภาพประกอบสำหรับเด็กก็เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งเช่นกัน ทั้งนี้เพราะสังคมไทยยังมิได้เห็นความสำคัญของ "วัยเด็ก" อย่างแท้จริง ดังนั้น สิ่งที่จะป้อนให้เด็กจึงมักไม่ใช่สิ่งที่กลั่นกรองกันมาแล้วอย่างดีที่สุด
ทัศนคติข้างต้นมีความสำคัญต่อผลงานที่จะเกิดขึ้น หาไม่แล้ว เราจะได้ภาพที่ทำหน้าที่เพียงแต่ประกอบเรื่องได้เป็นอันจบ ตรงกันข้าม หากเราเริ่มต้นการทำงานด้วยความคิดว่า เรากำลังสร้างสรรค์งานศิลปะที่ดีที่สุด งามที่สุดให้แก่เด็ก ก็เป็นที่คาดหวังได้ว่า เราน่าจะได้ภาพประกอบที่มีมิติแห่งความงาม และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์โดยแท้
เทคนิคอะไรจึงจะเหมาะ
เมื่อนักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กเตรียมตัวพร้อม ต่อไปในภาคปฏิบัติ คำถามที่มักตามมาก็คือ ควรใช้เทคนิคอะไรจึงจะเหมาะ จากประสบการณ์เราพบว่า เด็กๆ เป็นผู้ชมที่ไม่เรื่องมาก เขาสามารถรับและชื่นชมงานภาพประกอบที่สร้างด้วยเทคนิคอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำ สีชอล์ก สีโปสเตอร์ สีหมึก จะเป็นกี่สีก็ดี สีเดียวก็ได้ จะเป็นภาพปั้น ภาพประดิษฐ์ 2 มิติ 3 มิติก็ได้ และเชื่อว่าหากจะมีศิลปินท่านใดค้นคว้าเทคนิคที่แปลกไปกว่านี้สักแค่ไหน เด็กๆ ก็คงได้รับได้อีกเช่นกัน
ดังนั้นเทคนิคอะไรก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่ว่าเราเลือกใช้เหมาะกับเนื้อเรื่องไหม สอดคล้องกับผู้อ่านหรือเปล่า และเรามีทักษะในการบังคับใช้เทคนิคนั้นๆ จริงแท้แค่ไหน เพราะสำหรับภาพประกอบนิทานสำหรับเด็กแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความมีชีวิตชีวา ความสนุกสนาน ที่ต้องดึงออกมาจากเนื้อเรื่องให้ได้มากกว่า แต่ถ้าเราสามารถทำภาพประกอบที่ทั้งสนุกและสวยได้ก็ถือว่าวิเศษสุด
การแบ่งฉาก
เนื่องจากการจัดพิมพ์หนังสือ มีความจำเป็นต้องกำหนดจำนวนหน้า ดังนั้นนิทาน 1 เรื่องจึงจำเป็นต้องแบ่งซอยเป็นฉากๆ ตามจำนวนหน้าที่สำนักพิมพ์กำหนด
ในขณะแบ่งซอยเนื้อเรื่อง ผู้วาดต้องออกแบบภาพประกอบพร้อมๆ กันไปด้วย เพราะเนื้อหากับภาพประกอบต้องอยู่อาศัยด้วยกันเสมอ ทั้งนี้ขนาดและเค้าโครงของภาพแต่ละฉากก็สามารถสร้างสรรค์ได้หลากหลาย แทบจะไร้ขีดจำกัด
การเผื่อพื้นที่สำหรับการวางตัวอักษร
เนื่องจากขนาดของตัวอักษรมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้อ่านด้วย กล่าวคือ เด็กเล็กตัวอักษรควรโต แต่เด็กโต ตัวอักษรก็จะเล็กลงได้ ดังนั้น นิทานซึ่งเหมาะกับเด็ก 7-10 ปี จึงควรใช้ตัวอักษรขนาดประมาณ 20 p.(ป้อยท์)
ส่วนที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กกว่าคือราว 5-7 ปี ควรใช้ตัวอักษรขนาดประมาณ 22 p.
อนึ่ง ข้อควรระวังสำคัญอีกข้อคือ ตำแหน่งที่วางตัวอักษร ในกรณีเนื้อหาแน่นมาก นอกจากจะต้องเผื่อพื้นที่ให้พอที่จะลงตัวอักษรได้ครบแล้ว ยังต้องระวังไม่ให้ตัวอักษรเบียดภาพทำให้ดูอึดอัด และอีกประการหนึ่งไม่ควรวางตัวอักษรซ้อนภาพบริเวณที่เป็นจุดสำคัญหรือรายละเอียดและสีสันมาก เพราะจะอ่านยาก และตัวหนังสือควรเลือกแบบตัวหนังสือที่มีหัวกลม หรือใช้ลายมือเขียน
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจการทำภาพประกอบสำหรับเด็กไม่มากก็น้อย
……………………………………………………………………………………
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น